สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน เป็นกลุ่มของวัตถุเจือปนอาหาร (food additive) ถูกนำมาใช้ในผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นผง เพื่อทำหน้าที่ดูดความชื้นป้องกันการจับตัวเป็นก้อนของผลิตภัณฑ์ เช่นพริกไทยป่น นมผง น้ำผลไม้ผง เครื่องดื่มผง ผงฟู ผงปรุงรส เกลือบริโภค และอื่นๆ เพื่อให้ง่ายในการเคลื่อนตัวภายในขวดและป้องกันการจับตัวเป็นก้อน
หลักการทำงานของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อน โดยโมเลกุลของสารจะดูดน้ำ หรือจับกับน้ำได้มากถึง 2 เท่าของน้ำหนักตัว ช่วยดูดน้ำจากบรรยากาศที่ล้อมรอบอาหารภายในบรรจุภัณฑ์ และผิวของอาหาร ทำให้อาหารยังคงมีความชื้นต่ำ กระจายตัวได้โดยไม่เกาะรวมกันเป็นก้อน ตัวอย่างของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนเช่น แคลเซียม อลูมิเนียม ซิลิเกต (calcium aluminum silicate) แคลเซียม ซิลิเกต (calcium silicate) แมกนีเซียมคาร์บอเนต (magnesium carbonate) ซิลิคอนไดออกไซด์ (silicon dioxide) เป็นต้น
สถานะของสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนนั้น ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของสาร หากสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนสังเคราะห์ได้จากสารเคมีที่ได้รับการพิสูจน์แล้วไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายถือว่าอนุญาตให้สามารถนำมาใช้ได้ แคลเซียมที่เป็นองค์ประกอบที่อาจได้มาจากกระดูกหรือหินปูน ไขมันที่เป็นองค์ประกอบ (อย่างเช่น กรดสเตรียริก) และอนุพันธ์จากกรดสเตียริก อาจมีที่มาทั้งจากสัตว์และจากพืช สารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนอาจได้มาจากเกลือสเตียริก และไตรแคลเซียมฟอสเฟต (tricalcium phosphate) ซึ่งถูกนำมาใช้ในน้ำตาลหรือนมผง
ด้วยเหตุนี้การนำสารป้องกันการจับตัวเป็นก้อนไปใช้ ควรพิจารณาแหล่งที่มาของวัตถุดิบว่าได้จากการสังเคราะห์จากสารเคมีหรือได้มาจากพืชและควรมีเครื่องหมายรับรองฮาลาลหากสารป้องกันการจัดตัวเป็นก้อนมีแหล่งที่มาจากสัตว์
……………………………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี เรียบเรียง
ข้อมูลจาก :
www.foodnetworksolution.com
LPPOM MUI. Requirements of Halal Food Material (HAS 23201). Indonesia