กฎพื้นฐานของอาหารและเครื่องดื่ม คือ ทุกอย่างเป็นสิ่งที่ฮาลาล ยกเว้นสิ่งที่ ระบุในชารีอะอฺ ว่าเป็นสิ่งที่ หะรอม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มเหล้า
จากฮาดิษของท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) กล่าวว่า “ทุกสิ่งที่ทำให้มึนเมาเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม)” (รายงานโดย บุคอรีย์)
เล่าจากอาอิซะห์ (เราะฎิยัลลอฮุอันฮา) จากท่านนบี (ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ได้กล่าวว่า “ทุกสิ่งทำให้มึนเมาเป็นของต้องห้าม และสิ่งที่ฟะร๊อกหนึ่ง [1] ทำให้มึนเมา ดังนั้น ปริมาณเพียงเต็มกอบมือหนึ่งก็ถือว่าต้องห้าม” (รายงานโดย ติรมีซีย์)
อันที่จริงหากเราได้ทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เรียกว่า ‘การทำไวน์หรือเบียร์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์’กระบวนการทำเบียร์และไวน์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์หรือมีแอลกอฮอล์นั้นเหมือนกัน เพราะถึงแม้ว่าเบียร์หรือไวน์ที่ถูกผลิตขึ้นมาได้ระเหยเอาแอลกอฮอล์ออก แต่ไม่มีทางที่จะทำให้แอลกอฮอล์หมดไปร้อยเปอร์เซ็นต์
เราสามารถตรวจสอบกับโรงงานผลิตเบียร์และยืนยันถึงเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์ว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์น้อยที่สุดเท่าไหร่ (minimum amout of alcohol) เพราะระหว่างการผลิตของโรงงาน ยังมีปริมาณแอลกอฮอล์ที่หลงเหลืออยู่โดยที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ในเนื้อหาข้อกำหนดกฎหมายของอเมริกาและกฎหมายของยุโรปต่างก็อนุญาตให้โรงงานผลิตเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์มีปริมาณแอลกอฮอล์ได้น้อยสุดไม่เกิน 1 เปอร์เซ็นต์
ดังนั้น ทั้งไวน์และเบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างว่าไม่มีแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มก็ตาม
ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคควรที่จะได้ทราบ หากพวกเขายังไม่ทราบ ก็ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ผู้บริโภคได้รับรู้ผ่านช่องทางการศึกษาและช่องทางสื่อที่เหมาะสม
ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ว่า เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม) เช่นกัน ซึ่งทางคณะกรรมการได้ชี้แจงสาเหตุหลัก ๆ ในการวินิจฉัยว่า หะรอม ดังนี้
1. ถูกดื่มไปเพื่อการทดแทนบางสิ่งซึ่งเป็นที่ต้องห้ามนั่นคือเบียร์ที่มีแอลกอฮอล์
2. วัฒนธรรมการดื่มไวน์และเบียร์ที่ดื่มสืบทอดกันมานั้นไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับอิสลามฉะนั้นจึงเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)
ด้วยเหตุนี้ ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศสิงคโปร์จึงต้องการปิดประตูสู่การละเมิดทั้งในตัวบทและเจตนารมณ์ของหลักการอิสลาม ด้วยการฟัตวาให้เบียร์ที่ไม่มีแอลกอฮอล์นั้นเป็นที่ต้องห้าม (หะรอม)
………………………………………………………..
[1] ฟะร๊อกหนึ่ง เท่ากับสิบหกชั่ง
:: อ้างอิงจาก ::
– ฟัตวาของ IOL Shari`ah Researchers
– ฟัตวาของ คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศสิงคโปร์
…………………………………………………….
ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี แปลและเรียบเรียง