ประเทศไทยติดอันดับ 5 ของการประเมินดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกปี 2024

รายงานจากเดือนพฤษภาคมปี 2024 ที่ผ่านมา ทางมาสเตอร์การ์ดและเครสเซนต์เรตติ้ง ได้จัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลก ปี 2024 หรือ The Mastercard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index 2024 : GMTI) ซึ่งเป็นการจัดอับดับการท่องเที่ยวฮาลาลหรือจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมจาก 145 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการจัดอันดับดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก พร้อมทั้งให้ข้อมูลการวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับตลาดการท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญของการตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม แนวโน้ม โอกาสและประเด็นสำคัญสำหรับการท่องเที่ยว รวมถึงศึกษาประชากรศาสตร์และผลกระทบทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยวมุสลิม

จากจำนวนประชากรมุสลิมโลกปัจจุบันปี 2024 มีจำนวน 2.12 พันล้านคน และคาดว่าในปี 2030 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.47 พันล้านคนในปี 2024 [1] ประเทศไทยมีจำนวนประชากรมุสลิมประมาณ 3.64 ล้านคน [2] มีมัสยิดประมาณ 4,059 แห่ง [3] ซึ่งร้อยละ 85 อยู่ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ แต่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลกอยู่ในอันดับที่ 5 ของประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกองค์กรความร่วมมืออิสลามหรือกลุ่ม OIC รองจากประเทศสิงค์โปร์ สหราชอาณาจักร ไต้หวันและฮ่องกง และอยู่ในอันดับที่ 32 ของการจัดอันดับทั้งหมด จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับจำนวน 145 ประเทศ

กรอบการประเมินดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมทั่วโลกได้ใช้ ACES 3.0 Framework ซึ่งเปิดใช้ครั้งแรกในปี 2017 ครอบคลุมการประเมินการเดินทางที่เป็นมิตรของชาวมุสลิม ACES ที่ย่อมาจาก A: Access การเข้าถึงหรือการเดินทางเข้าประเทศ C : Communications การสื่อสาร หรือการเข้าถึงกลุ่มตลาดและการสื่อสารไปยังตลาดกลุ่มเป้าหมาย E : Environment สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยว และ S : Service บริการ หรือการให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวกแก่นักเดินทางชาวมุสลิม จากจำนวนคะแนนการประเมินทั้งหมด 100 คะแนน แบ่งประเด็นการประเมินที่ประกอบด้วย

1. การบริการให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก (service) ร้อยละ 40 ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการบริการด้านฮาลาล ประกอบด้วย การบริการสถานที่ละหมาด (10%) อาหารฮาลาล (10%) สนามบินที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (10%) โรงแรมหรือที่พักที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิม (5%) และ มรดกทางวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยวที่สะดวกในการเดินทาง (5%)

2. สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินทาง (Environment) ร้อยละ 30 ประกอบด้วย ความปลอดภัยโดยทั่วไปของนักท่องเที่ยว (10%) ข้อจำกัดหลักศรัทธา (5%) เช่น ข้อจำกัดการแต่งกายของนักท่องเที่ยวหญิงมุสลิมที่จะส่งผลต่อการประสบการณ์ของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (5%) การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างสะดวก (5%) และจำนวนนักท่องเที่ยวมุสลิมในจุดหมายปลายทาง (5%)

3. การเข้าถึงและการสื่อสาร (C: Communications) ร้อยละ 15 ประกอบด้วย การตลาดปลายทาง (5%) ในส่งเสริม บริการและอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม ความสามารถในการสื่อสารกับนักท่องเที่ยว (5%) และการตระหนักรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อความชอบและความต้องการของนักท่องเที่ยว (5%)

4. ความสะดวกในการเดินทางเข้าประเทศ (Access) ร้อยละ15 ประกอบด้วย ข้อกำหนดด้านวีซ่าของนักท่องเที่ยว (5%) การเชื่อมต่อและความถี่ของเที่ยวบิน (5%) และโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง (5%) ที่อำนวยความสะดวก การเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของจุดหมายปลายทาง [1]

จึงถือได้ว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ แหล่งท่องเที่ยวภายในประเทศไทยที่ต้องการรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ควรจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม เช่น ร้านอาหารฮาลาล สถานที่ละหมาด และอื่นๆ ในเมืองหลักของการท่องเที่ยว ผู้ให้บริการควรมีความรู้พื้นฐานและความเข้าใจในข้อปฏิบัติ ขนบธรรมเนียมและประเพณีของชาวมุสลิมในเบื้องต้น นอกจากนี้ การสื่อสาร การโฆษณา ประชาสัมพันธ์ การทำการตลาดไปยังกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวโดยตรงไปยังเป้าหมายและสร้างการรับรู้ว่าประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวมุสลิม การเพิ่มสถานที่ละหมาดและการบริการอาหารฮาลาลในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของไทย รวมทั้งการสื่อสารที่เจาะไปยังกลุ่มเป้าหมาย เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาอาหรับ หรือภาษามาเลเซีย อินโดนีเซีย เป็นต้น

ท้ายสุดนี้ เครื่องหมายฮาลาลของสถานที่ท่องเที่ยวที่บริการอาหารฮาลาล ถือเป็นมาตรฐานสากลและเป็นหัวใจสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อีกด้วย
……………………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
………………..
Ref.
[1] The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024 [Online]. [cited 2024 Jul 5]. Available from: https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel…
[2] สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2561). จำนวนศาสนิกชนจำแนกตามศาสนา พ.ศ. 2551 2554 2557 และ 2561. สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/04.aspx
[3] สำนักงานคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย. (2567). สถิติจำนวนมัสยิดที่จดทะเบียนจัดตั้ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 สืบค้นเมื่อ 10 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/profile/100066664478238/search/?q=%E0%B8%88%E0%B8%B3%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%A2%E0%B8%B4%E0%B8%94%202566

การท่องเที่ยวสตรีมุสลิมกำลังมาแรง! สำรวจโอกาสและแนวโน้มใหม่ในการท่องเที่ยวที่เอื้อต่อสตรีมุสลิม

การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม ยังคงเป็นเทรนด์ และกระแสหลักที่มีความเกี่ยวข้องอย่างมากกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เราจะเห็นได้ว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมเหล่านี้ แนวโน้มการท่องเที่ยวยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีการศึกษาที่ดี มีรายได้ให้จับจ่าย และมักจะแต่งงานช้า ทำให้กลุ่มนี้มีเวลาในการออกเดินทางผจญภัยที่น่าสนุกสนานทั่วโลก [1] ปัจจุบันปี 2014 มีจำนวนประชากรมุสลิม 2.12 พันล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.47 พันล้านคนในปี 2034 โดยจำนวน 49.2% ของจำนวนประชากรมุสลิมเป็นสตรี และจำนวนสตรีมุสลิมจำนวน 436 ล้านคนมีอายุระหว่าง 21 – 50 ปีที่มีอิทธิพลต่อการวางแผนการท่องเที่ยว [2]
.
ในการจัดทำรายงานดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก ปี 2024 ซึ่งเป็นการจัดอับดับการท่องเที่ยวฮาลาล หรือจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับมุสลิมจาก 145 ประเทศทั่วโลก (GMTI 2024) ยังคงเน้นย้ำและให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับจุดหมายปลายทางของสตรีมุสลิม ซึ่งมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นและมีศักยภาพทางการตลาดของการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์การเดินทางแบบครอบครัวและคู่รัก ซึ่งข้อมูลในการวางแผนและการตัดสินใจของกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับกลุ่มท่องเที่ยวอื่น ๆ รวมทั้งแนวโน้มของการเดินทางคนเดียวและการเดินทางแบบกลุ่มของสตรีมุสลิมที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด เมื่อข้อจำกัดด้านการเดินทางผ่อนคลายลง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ก็เริ่มเดินทางเพิ่มสูงขึ้น สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาสำหรับการเดินทางของกลุ่มนี้คือ การเดินทางของจุดหมายปลายทางที่เคารพหลักปฏิบัติทางวัฒนธรรม ความเชื่อและศาสนาในวงกว้างมากขึ้น และสนับสนุนความปลอดภัยของนักเดินทางสตรีอย่างจริงจัง
.
เกณฑ์สำคัญในการประเมินจุดหมายปลายทางของดัชนีชี้วัดการท่องเที่ยวมุสลิมโลก (GMTI 2024) ได้ประเมินจุดหมายปลายทางที่เป็นมิตรกับสตรีมุสลิมโดยใช้ชุดเกณฑ์ประเมินที่ได้รับการปรับแต่งให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวสตรี ซึ่งรวมอยู่ในมิติสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรกับการท่องเที่ยว โดยเกณฑ์เหล่านี้มุ่งเน้นไปที่

1. ข้อจำกัดด้านศรัทธาและความเชื่อ : การประเมินว่าจุดหมายปลายทางรองรับการปฏิบัติทางศาสนาและการแต่งกายของสตรีมุสลิม โดยไม่กำหนดข้อจำกัดอย่างไร

2. ความปลอดภัย : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจุดหมายปลายทางนั้นปลอดภัยสำหรับนักเดินทางสตรี โดยจัดการกับข้อกังวลตั้งแต่ ความปลอดภัยบนท้องถนนไปจนถึงภัยการคุกคามต่างๆแกนักท่องเทียว

3. ความยั่งยืน : ผสมผสานแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับค่านิยมของนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม เช่น ทางเลือกการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่เป็นประโยชน์ต่อท้องถิ่น

4. การเดินทางที่เข้าถึงได้ : ตัวชี้วัดการเดินทางที่สามารถเข้าถึงได้ ยังรวมอยู่ในการคำนวณจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรสำหรับสตรีมุสลิมอีกด้วย
.
จากการจัดอันดับดัชนีการท่องเที่ยวมุสลิมโลก ปี 2024 โดยประเทศสิงค์โปยังคงเป็นเป็นประเทศอันดับ 1 ของประเทศนอกกลุ่ม OIC ในมิติสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิม ซึ่งเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าจุดหมายปลายทางเหล่านี้มีความปลอดภัย ความยั่งยืนในระดับสูง และไม่มีข้อจำกัดด้านความเชื่อที่ทำให้เกิดความครอบคลุม รองลงมาเป็น ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนประเทศไทย มิติด้านด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรสำหรับนักท่องเที่ยว ประกอบด้วย ข้อจำกัดด้านศรัทธาและความเชื่อ ได้คะแนน 100 คะแนน ความปลอดภัยทั่วไป ได้คะแนน 82 คะแนน ความยั่งยืน ได้คะแนน 48 คะแนน และการเดินทางเข้าถึงง่ายได้คะแนน 19 คะแนน ตามลำดับ [2]
.
ดังนั้น ด้วยตระหนักถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นในภาคส่วนการเดินทาง ทำให้ GMTI ในปีนี้ จึงเน้นย้ำถึงความสำคัญและการสร้างสภาพแวดล้อมการเดินทางที่ตอบสนองกลุ่มนักท่องเที่ยวสตรีมุสลิมโดยเฉพาะ
………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
……..
Ref.
[1] ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี). จับตาเทรนด์การท่องเที่ยวฮาลาลยอดนิยมในปี 2019. เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=2388425871195632&set=a.504582689579969
[2] The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024 . เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2567 จาก https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel

การเติบโตของเศรษฐกิจฮาลาลในยุคปัจจุบัน จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023/24

จากรายงานสภาวะเศรษฐกิจโลกอิสลาม ปี 2023 – 2024 (2023/24 The State of Global Islamic Economy Report) ของประเทศในกลุ่ม OIC โดยปีนี้เป็นฉบับที่ 10 จากความร่วมมือของ DinarStandard ร่วมกับ Salaam Gateway ในการจัดทำรายงานทางด้านเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ OIC ทางด้านอาหาร การเงิน แฟชั่น ยา เครื่องสำอาง และอื่น ๆ และในฉบับนี้ยังรวมตลาด Halal Life Style ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการคาดการณ์เมื่อปี 2012 คาดการณ์ว่า ตลาดการใช้จ่ายของผู้บริโภคอยู่ที่ 1.62 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ เป็น 2.29 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2022 โดยได้แรงผลักดันจากประชากรโลกมุสลิมที่อายุน้อยและเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เศรษฐกิจฮาลาลกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน

ด้วยการสนับสนุนจากกองทุนความมั่นคงแห่งชาติ เช่น Public Investment Fund (PIF) ของซาอุดีอาระเบีย และนโยบายเศรษฐกิจของมาเลเซีย อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบียที่รวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอิสลามเข้าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ การลงทุนจาก VCs และ PE funds ยังคงสนับสนุนการเป็นผู้ประกอบการทางด้าน Fintech และแฟชั่นบนตลาดอีคอมเมิร์ซ

บริษัทข้ามชาติอย่าง BRF, Nestlé และ Nike ยังคงลงทุนและพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับตลาดมุสลิมที่มีขนาดใหญ่และกำลังเติบโต ในขณะที่ OIC และองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ เช่น UNHCR และธนาคารโลก กำลังมองหาการเงินอิสลามเป็นแหล่งทุนสำคัญในการพัฒนา ถึงแม้จะมีความท้าทายจากวิกฤตการณ์รอบโลก เช่น ความขัดแย้งในยูเครน สถาณการณ์ในกาซ่า วิกฤตภูมิอากาศ และความไม่แน่นอนจากการปฏิวัติทางดิจิทัล และเทคโนโลยี AI แต่การพัฒนาในหลายด้าน ได้สนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอิสลามทั่วโลก เช่น การขยายตัวของเศรษฐกิจเกิดใหม่ของกลุ่ม BRICS และวิสัยทัศน์ Vision 2030 ของประเทศซาอุดีอาระเบีย

รายงานในปี 2023 ระบุว่า ผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลกจำนวน 2 พันล้านคน ใช้จ่ายไปถึง 2.29 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 ในภาคส่วนของอาหาร ยา เครื่องสำอาง แฟชั่น การท่องเที่ยว และสื่อมัลติมีเดีย ซึ่งเพิ่มขึ้น 9.5% จากปี 2021 นอกจากนี้ สินทรัพย์ทางการเงินอิสลาม ยังมีมูลค่าถึง 3.96 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021/2022 และคาดว่าจะแตะที่ 5.94 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯภายในปี 2025/2026 โดยประเทศมาเลเซียยังคงเป็นผู้นำในดัชนีเศรษฐกิจอิสลามโลก (GIEI) ตามมาด้วยซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยอินโดนีเซียขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 บาห์เรนตกลงมาอยู่ในอันดับ 5 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2019/20 และแอฟริกาใต้ขึ้นมาเป็น 15 อันดับแรกได้เป็นครั้งแรก

การนำเข้าสินค้าฮาลาลของประเทศสมาชิก OIC ลดลงเล็กน้อยในปี 2022 แต่คาดว่า จะฟื้นตัวในปี 2027 โดยมีมูลค่าถึง 492 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 7.6% การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลามเติบโตขึ้นถึง 128% ในปี 2022/23 โดยอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังคงเป็นผู้นำในด้านการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจอิสลาม

การเติบโตของภาคอาหารฮาลาลยังคงดำเนินต่อไป แม้จะมีการลดมูลค่าการลงทุนลง แต่เทคโนโลยีทางด้านอาหารยังคงเป็นแนวหน้าในภาคการลงทุน โดยผู้บริโภคมุสลิมใช้จ่ายในอาหารเพิ่มขึ้น 9.6% ในปี 2022 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 1.89 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2027

ในขณะเดียวกัน ภาคการเงินอิสลามยังคงดึงดูดระดับการลงทุนที่สูงขึ้น โดยมูลค่ารวมของการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินอิสลาม เพิ่มขึ้นห้าเท่าในปี 2022/23 อุตสาหกรรมนี้กำลังพัฒนาไปสู่ดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และการรวมกลุ่มทางการเงิน

การเติบโตของภาคการท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศ OIC ฟื้นตัวขึ้นหลังการระบาดโควิด มีการลงทุนทางด้านโครงการพัฒนาโรงแรมแห่งใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น และการใช้เทคโนโลยีการท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในปี 2022 สูงถึง 133 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวจะสูงถึง 174 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แฟชั่นมุสลิมในแบบสุภาพ กับการตลาดแบบ Omnichannel และตลาดอีคอมเมิร์ซยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายในด้านแฟชั่นของผู้บริโภคมุสลิมการใช้จ่ายด้านแฟชั่นของชาวมุสลิมสูงถึง 318 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และเป็นที่คาดการณ์ว่าภายในปี 2027 จะมีมูลค่าถึง 428 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อุตสาหกรรมยาฮาลาล ยังคงเผชิญกับความท้าทายจากเงินเฟ้อและการขัดข้องในห่วงโซ่อุปทาน แต่การใช้จ่ายในด้านยาของผู้บริโภคมุสลิมสูงถึง 108 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดการณ์ว่าในปี 2027 มูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง142 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

ท้ายสุด ตลาดเครื่องสำอางและความบันเทิงก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง การใช้จ่ายของผู้บริโภคมุสลิมในการซื้อเครื่องสำอางสูงถึง 84 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าจะสูงถึง 129 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2027
ในขณะที่การใช้จ่ายในภาคสื่อและสันทนาการของชาวมุสลิมสูงถึง 247 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2022 และคาดว่าในปี 2027 จะมีมูลค่าการใช้จ่ายจะสูงถึง 344 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยบทสรุปของรายงานฉบับนี้ ได้เสนอข้อแนะนำสำหรับรัฐบาล ธุรกิจ และนักลงทุน ในการเดินหน้าคว้าโอกาสของตลาดในกลุ่มนี้ และมองอนาคตของเศรษฐกิจฮาลาล เศรษฐกิจที่มีรากฐานจากคุณค่าของความเชื่อในศาสนาอิสลาม จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของสังคมโลกต่อไป [1]
………..
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ
……….
Ref.

[1] Salaam gateway. 2024. The State of the Global Islamic Economy 2023/24 Report [Online]. [cited 2024 Jul 3. Available from: https://salaamgateway.com/…/state-of-the-global-islamic…

เหตุใดประเทศไทยถึงพร้อมที่จะกลายเป็นมหาอำนาจด้านอาหารฮาลาล

ประเทศไทยเป็นกำลังหลักสำคัญของตลาดอาหารฮาลาลทั่วโลก เนื่องจากการเข้ามามีส่วนแบ่งในภาคส่วนอาหารฮาลาลที่กำลังเติมโตอย่างรวดเร็ว ด้วยกับจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลกว่า 160,000 รายการ จึงทำให้ประเทศไทยตั้งเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางอาหารฮาลาลระดับภูมิภาคในอีกสี่ปีข้างหน้า โดยใช้ประโยชน์จากประชากรมุสลิมในประเทศ ความใกล้ชิดกับประเทศมุสลิมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และกำลังเร่งการส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังประเทศแถบตะวันออกกลางเพิ่มมากยิ่งขึ้น

“ภายใต้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบัน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดยุทธศาสตร์ใหม่โดยมีวิสัยทัศน์ที่จะยกระดับอุตสาหกรรมฮาลาลของไทยให้เป็นศูนย์กลางฮาลาลของอาเซียนภายในปี 2028” รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวกับ Salaam Gateway

เมื่อต้นปี 2567 รัฐบาลไทยได้จัดตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาลแห่งชาติ เพื่อกำกับดูแลการพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลในระดับนานาชาติ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจฮาลาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่ม GDP ของประเทศได้ถึง 1.2% ภายในปี 2028 และสร้างงานประมาณ 100,000 ตำแหน่งต่อปี ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีประชากรมุสลิมเพียง 5.8% แต่รัฐบาลได้ดำเนินกลยุทธ์เพื่อขยายภาคส่วนอาหารฮาลาลอย่างจริงจัง โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) ได้ดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของผลิตภัณฑ์ฮาลาลไทยในตลาดต่างประเทศ เช่น การสร้างแบรนด์ผลิตภัณฑ์และส่งเสริมการส่งออกไปยังตลาดเป้าหมาย การเข้าร่วมงานนิทรรศการ Gulfood ในดูไบ และการเตรียมจัดงาน Thaifex 2024 ในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในงานแสดงสินค้าด้านอาหารและเครื่องดื่มที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย รวมทั้งยังได้จัดการเจรจาการค้าและการจับคู่ธุรกิจเพื่อส่งเสริมการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง

การเติบโตของอาหารฮาลาลในประเทศไทยเป็นผลมาจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผ่านการเกษตร การผลิต และการบริการ ขณะที่รัฐมีบทบาทในการสนับสนุนงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีฮาลาล รวมถึงการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานฮาลาลที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จึงทำให้การส่งออกอาหารฮาลาลของประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2023 มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) ถึง 6.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 5.3% จากปีก่อนหน้า สินค้าหลักที่ส่งออก ได้แก่ ข้าว น้ำตาล อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลัง และไก่สดและแช่แข็ง

ประเทศไทยยังมุ่งหวังที่จะกระจายตลาดการส่งออกอาหารฮาลาลไปยังประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมแต่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น อินเดีย จีน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา รวมถึงประเทศที่มีนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฮ่องกง นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับการยอมรับในระดับสากล ในฐานะสมาชิกของสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาแห่งประเทศอิสลาม (SMIIC) ในปี 2560 ซึ่งทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมประเทศแรกที่ได้รับการรับรองนี้ นอกจากนี้คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ยังได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย (SFDA) และศูนย์รับรองระหว่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Emirates International Accreditation Centre) ทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกสินค้าฮาลาลไปยังทั้งสองประเทศนี้ได้ ซึ่งเป็นประตูสู่ตลาดในประเทศตะวันออกกลาง

ในขณะที่งานทางด้านวิจัยและพัฒนาของไทย ก็มีความโดดเด่น เช่นงานของ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น ระบบการจัดการคุณภาพ HAL-Q และฐานข้อมูลวัตถุเจือปนอาหารฮาลาล (H number) เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทย ด้วยการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI และการประมวลผลแบบคลาวด์ เข้ามาใช้ในการพัฒนาธุรกิจเชิงพาณิชย์ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล กำลังวางแผนที่จะเพิ่มความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจฮาลาลให้กับผู้บริโภคทั่วโลก

ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะเดินหน้ากลยุทธ์และแผนปฏิบัติการต่างๆ เพื่อนำพาประเทศเข้าสู่การเป็นผู้นำในตลาดฮาลาลโลกในอนาคตอันใกล้นี้
………………………..
บทความโดย Heba Hashem จากแพลตฟอร์มข่าวและข้อมูลเชิงลึกด้านเศรษฐกิจฮาลาล SALAAM GATEWAY
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง
………….
Ref :
Heba Hashem, 2024. Why Thailand is poised to become a halal food powerhouse. Available: https://salaamgateway.com/…/why-thailand-is-poised-to…. August 16, 2024

คุณสมบัติสำคัญของผู้ประกอบการไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย

ซาอุดิอาระเบียถือเป็นตลาดที่กำลังได้รับความสนใจในระดับนานาชาติ รวมถึงประเทศไทยซึ่งสัมพันธภาพของทั้งสองชาติได้ถูกยกระดับไปสู่ความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ปัจจัยดังกล่าวยังเอื้อประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดการส่งออกสินค้าของไทยไปยังตลาดซาอุดีอาระเบีย และจำนวนนักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียเข้าไทยได้กลับมาเติบโตแบบก้าวกระโดด ผู้ประกอบการกลุ่ม SME และนักลงทุนอาจใช้โอกาสนี้ในการเจาะตลาดและขยายธุรกิจสู่ตลาดซาอุฯ มากยิ่งขึ้น โดยคุณสมบัติที่สำคัญของผู้ประกอบการจากประเทศไทยในการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียได้นั้น ผลิตภัณฑ์และสถานประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติที่สอดคล้องกับเกณฑ์ข้อกำหนดและมาตรฐานทั้งในด้านคุณภาพ ความปลอดภัย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบของประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยคุณสมบัติหลักๆ ของผู้ประกอบการที่จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศซาอุดีอาระเบีย มีดังนี้

1. ผลิตภัณฑ์อาหารดังกล่าวควรมีการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล
เนื่องจากประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การผลิตอาหารที่ส่งออกไปยังประเทศนี้ต้องมีใบรับรอง “ฮาลาล” จากหน่วยงานที่ได้รับการยอมรับ ซึ่งในประเทศไทย คือ สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำคัญที่ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ด้านอาหารเหล่านั้น ผลิตถูกต้องสอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามหรือที่เรียกว่า “อาหารฮาลาล”

2. การรับรองจากหน่วยงานด้านอาหารและยาจากซาอุดีอาระเบีย (SFDA)
SFDA ย่อมาจาก Saudi Food and Drug Authority ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและควบคุมด้านอาหาร ยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยทำหน้าที่หลักๆ คือ

• การควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร: SFDA ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าและจำหน่ายในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการให้การรับรองผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาล

• ควบคุมยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์: หน่วยงานนี้รับผิดชอบในการควบคุมการผลิต การนำเข้า และการจำหน่ายยา รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าเหล่านี้มีคุณภาพและปลอดภัยสำหรับการใช้งาน

• พัฒนามาตรฐานความปลอดภัย: SFDA ทำหน้าที่กำหนดและปรับปรุงมาตรฐานด้านความปลอดภัยให้ทันสมัยและสอดคล้องกับแนวทางสากล เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

• ให้ข้อมูลและคำแนะนำ: SFDA ให้ข้อมูลและคำแนะนำด้านสุขภาพ ความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ทางด้านอาหารที่ส่งออกมายังประเทศซาอุดีอาระเบีย จะต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจาก SFDA เพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าอาหารที่ส่งออกมีคุณภาพและความปลอดภัยตามที่กำหนด รวมถึงผ่านการตรวจสอบด้านสุขภาพและความปลอดภัย

3. สถานประกอบการผลิตสินค้าได้อย่างมีมาตรฐาน
โรงงานหรือผู้ผลิตต้องมีมาตรฐานการผลิตที่สอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบของประเทศซาอุดีอาระเบีย รวมถึงได้รับการรับรองจากหน่วยงานต่างๆ เช่น การมีระบบ GMP (Good Manufacturing Practices) ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ดีในการผลิต และระบบ HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) หรือ ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุม การมีระบบเหล่านี้เพื่อควบคุมคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหาร ซึ่งถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศซาอุดีอาระเบีย

4. ความสามารถในการขนส่งและโลจิสติกส์
ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เช่น การจัดส่งสินค้าผ่านทางท่าเรือหรือทางอากาศ รวมถึงการเตรียมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า การส่งออก และการผ่านพิธีการศุลกากร เนื่องจากระยะทางที่ไกลและความต้องการในการควบคุมคุณภาพสินค้า โดยเฉพาะอาหารที่ต้องรักษาความสดและคงคุณภาพไว้จนถึงมือผู้บริโภค ระบบขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เช่น การขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ ช่วยให้สินค้ามีคุณภาพดีแม้ในเส้นทางระยะไกล นอกจากนี้ การจัดการเอกสารและการผ่านพิธีการศุลกากรในซาอุดีอาระเบียมีความเข้มงวด ผู้ส่งออกต้องเตรียมเอกสารครบถ้วนและถูกต้องเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้าในการขนส่ง ระบบโลจิสติกส์ที่ดีจะช่วยให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการขนส่งและทำให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะในตลาดที่มีการแข่งขันสูงอย่างซาอุดีอาระเบีย การขนส่งสินค้าที่รวดเร็วและคงคุณภาพจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้เปรียบทางธุรกิจ

5. การจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออก
ผู้ประกอบการต้องจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทยและผ่านกระบวนการจดทะเบียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในซาอุดีอาระเบีย เพื่อให้สามารถส่งสินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นทางการ โดยการจดทะเบียนเป็นผู้ส่งออกสำหรับการส่งออกสินค้าไปยังซาอุดีอาระเบียต้องมีการเตรียมเอกสารและปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

• จดทะเบียนนิติบุคคล: ผู้ส่งออกต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

• ใบอนุญาตประกอบธุรกิจส่งออก: ต้องได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร หรือหน่วยงานด้านการค้าระหว่างประเทศ

• เอกสารรับรองมาตรฐานสินค้า: เช่น ใบรับรองมาตรฐานฮาลาลจากสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (CICOT) สำหรับสินค้าอาหาร และการรับรองมาตรฐานสินค้าอื่น ๆ จากหน่วยงานในไทยที่ได้รับการยอมรับ

• การลงทะเบียนกับหน่วยงานในซาอุดีอาระเบีย: ผู้ส่งออกต้องลงทะเบียนกับ SFDA (Saudi Food and Drug Authority) และ SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้าตรงตามมาตรฐานการนำเข้า

• จัดเตรียมเอกสารประกอบการส่งออก: รวมถึงใบกำกับสินค้า ใบขนส่ง และใบรับรองต่าง ๆ เช่น ใบรับรองคุณภาพสินค้า (Certificate of Quality) และใบรับรองการตรวจสอบสินค้า (Certificate of Inspection)

6. ความสามารถในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎหมาย
ผู้ส่งออกต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของ SASO หรือ Saudi Standards, Metrology and Quality Organization ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับรองมาตรฐานคุณภาพ ความปลอดภัย และข้อกำหนดในการบรรจุภัณฑ์และฉลากผลิตภัณฑ์ หรือเทียบเคียงเป็นเหมือน มอก.ในประเทศไทย โดย SASO (Saudi Standards, Metrology and Quality Organization) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐาน กฎระเบียบ และมาตรการที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการในซาอุดีอาระเบีย ในการกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการการรับรองผลิตภัณฑ์ การควบคุมการนำเข้าและการส่งออก การตรวจสอบและทดสอบสินค้าต่างๆ และการส่งเสริมคุณภาพและมาตรฐานในการตระหนักรู้และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและสาธารณชนเข้าใจถึงความสำคัญของมาตรฐานและคุณภาพในผลิตภัณฑ์และบริการ

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะมีโอกาสในการเข้าสู่ตลาดซาอุดีอาระเบียและสามารถแข่งขันในตลาดอาหารที่มีความต้องการสูงได้
……………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง
…………..
แหล่งข้อมูล
1. https://www.thebetter.co.th/news/business/4552
2.https://www4.fisheries.go.th/…/20230314090138_new.pdf
3. https://www.v-servelogistics.com/…/2011/05/middle_east.pdf
4. https://certify.dld.go.th/…/201…/855-2018-08-28-03-48-10
5. https://www.dhl.com/…/ship-from-thailand-to-middle-east
6. https://onestopservice.ditp.go.th/file/DB023_HS04051000.pdf
7. https://image.mfa.go.th/…/business-20191012-194916…
8. https://www.sfda.gov.sa/en
9. https://www.saso.gov.sa/en

แนวทางการจัดจำหน่ายสินค้าในซาอุดีอาระเบีย : เลือกวิธีที่ใช่สำหรับธุรกิจของคุณ

ซาอุดีอาระเบียถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายธุรกิจสู่ตะวันออกกลาง เนื่องจากมีกำลังซื้อสูงและประชากรที่เปิดรับสินค้านำเข้า จากประสบการณ์ของทีมงานที่ได้เข้าร่วมแสดงสินค้าในงาน Foodex Saudi 2024 และนักธุรกิจในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ คณะทำงานจึงมองเห็นว่า นอกจากการจัดแสดงสินค้าในซาอุดีอาระเบียในงาน Foodex Saudi 2024 ที่ผ่านมาแล้ว การเลือกช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมอื่น ๆ เป็นปัจจัยสำคัญในการประสบความสำเร็จในการส่งออกสินค้ามายังประเทศซาอุดีอาระเบีย โดยแนวทางสำคัญที่ควรพิจารณาประกอบด้วย

1.การทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่น (Local Distributors)
การหาตัวแทนจัดจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดและกฎระเบียบของซาอุดีอาระเบียเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ตัวแทนท้องถิ่นสามารถช่วยให้สินค้าเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน และสร้างความได้เปรียบด้านการกระจายสินค้า โดยลดภาระทางด้านทรัพยากร และเข้าถึงลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียที่จะต้องแบ่งกำไรกับตัวแทนจัดจำหน่าย และอาจควบคุมการตลาดได้น้อย เป็นต้น

2. การขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ (E-commerce)
แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เช่น www.amazon.sa และ www.noon.com กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในซาอุดิอารเบียน หลังจากสถาณการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ผู้บริโภคซาอุดีอาระเบียหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ซึ่งทำให้เป็นช่องทางที่สะดวกในการการกระจายสินค้าและเข้าถึงผู้บริโภคในซาอุดีอาระเบียโดยตรง โดยข้อดี เข้าถึงลูกค้าได้อย่างกว้างขวาง และประหยัดต้นทุน ในขณะที่ข้อเสียคือ ในตลาดนี้มีการแข่งขันสูง ต้องมีการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าและบริการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น (Joint Ventures)
การร่วมทุนกับบริษัทในซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเข้าถึงตลาดที่รวดเร็วและได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรที่มีประสบการณ์ แต่ต้องมีการจัดการร่วมกันระหว่างผู้ร่วมทุน โดยข้อดี คือ สามารถเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดในซาอุดิอาระเบียได้อย่างรวดเร็วและยังได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตร แต่ข้อมีข้อเสียที่ต้องแบ่งผลกำไรและการตัดสินใจร่วมกัน

4. การเปิดบริษัทสาขาหรือสำนักงานตัวแทน (Local Branch/Representative Office)
การเปิดสาขาหรือสำนักงานตัวแทน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถควบคุมการดำเนินธุรกิจได้อย่างเต็มที่ แต่ต้องใช้เงินทุนและทรัพยากรในการบริหารสูง ซึ่งข้อดีคือ ช่วยควบคุมธุรกิจได้เต็มที่และสามารถปรับกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็ว แต่มีข้อเสียที่จะใช้เงินลงทุนสูง มีความเสี่ยงในการบริหารจัดการ

5. การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า (Trade Shows)
งานแสดงสินค้า เช่น Foodex Saudi เป็นเวทีสำคัญสำหรับการพบปะผู้จัดจำหน่ายและสร้างเครือข่ายทางธุรกิจ การเข้าร่วมช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าใจความต้องการของตลาดมากขึ้น ซึ้งข้อดี คือการเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างเครือข่ายใหม่ ส่วนข้อเสียนั้น ต้องใช้เวลาและทรัพยากรในการเข้าร่วม

ดังนั้น การเลือกวิธีการจัดจำหน่ายที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับขนาดและเป้าหมายของธุรกิจ สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาดอย่างรวดเร็ว การทำงานร่วมกับตัวแทนจำหน่ายท้องถิ่นและใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นทางเลือกที่นิยม เนื่องจากช่วยประหยัดทรัพยากรและเข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม การลงทุนระยะยาวในรูปแบบการร่วมทุนหรือการเปิดสาขาอาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมหากต้องการความยั่งยืนในตลาดนี้
……
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ เรียบเรียง

ที่มา :
– Gulf News, “World Gulf/ Saudi,”. [Online]. https://gulfnews.com/world/gulf/saudi. [Accessed: Oct. 24, 2024].
– Foodex Saudi, “Foodex Saudi Expo 2024,”. [Online]. https://foodexsaudiexpo.com. [Accessed: Oct. 23, 2024].
– International Research & Strategy, “การวิจัยตลาดอาหารในซาอุดีอาระเบีย,”. [ออนไลน์]. สืบค้นจากhttps://www.sisinternational.com/th. เมื่อ 23 ตุลาคม 2567

กรอบแนวคิด RIDA กับการผสาน วัฒนธรรมและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมุสลิม

การท่องเที่ยวระดับโลกกำลังพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความคาดหวังของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลง และความใส่ใจต่อความยั่งยืน ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ ตลาดการท่องเที่ยวมุสลิมยังคงเติบโตและมีความสำคัญ ทำให้เกิดความต้องการกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการเฉพาะเหล่านี้ ซึ่งทาง Crescent Rating จึงได้พัฒนากรอบแนวคิด RIDA ขึ้น เพื่อตอบสนองความท้าทายในการผสานแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ วัฒนธรรม กับเทคโนโลยีล้ำสมัยเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคต
.
กรอบแนวคิด RIDA ได้แรงบันดาลใจมาจากภาษาอาหรับ (رضا) ซึ่งหมายถึงความพึงพอใจและความสุข ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญที่นักเดินทางต้องการระหว่างการเดินทาง ดังนั้น กรอบแนวคิด RIDA ย่อมาจากคำสี่คำ คือ Responsible, Immersive, Digital, และ Assured (รับผิดชอบ ดื่มด่ำ ดิจิทัล และเชื่อมั่น) ซึ่งเป็นแนวทางที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับประสบการณ์ของนักท่องเที่ยวมุสลิม ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านศรัทธาและความเชื่อเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับแนวโน้มอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและบริการเฉพาะบุคคล กรอบนี้จึงเป็นเครื่องมือสำหรับจุดหมายปลายทางและผู้ให้บริการ เพื่อเพิ่มคุณภาพและเข้าถึงนักท่องเที่ยวมุสลิมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมิติหลักของกรอบ RIDA ประกอบด้วย 4 มิติ ดังนี้
.
1. #มิติของความรับผิดชอบ (Responsible Dimension)
1.1 ความรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจสังคม (Socio-Economics)
ส่งเสริมการใช้จ่ายในธุรกิจและกิจกรรมของท้องถิ่น เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการค้าที่เป็นธรรมและการบริโภคที่มีจริยธรรม การสนับสนุนบริษัทที่รักษาคุณภาพชีวิตแรงงานช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และการให้บริการท่องเที่ยวที่เข้าถึงได้ จะช่วยให้ทุกคนได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียม
.
1.2 ความรับผิดชอบด้านสังคมวัฒนธรรม (Socio-Cultural)
มุ่งเน้นการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม และการเคารพขนบธรรมเนียมและประเพณีท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดปฏิสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชน และสร้างความตระหนักในเรื่องธรรมเนียมทางศาสนา การท่องเที่ยวแบบนี้ยังส่งเสริมการครอบคลุมและตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของผู้เดินทาง
.
1.3 ความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental)
ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตามหลักศรัทธา ซึ่งเน้นถึงความเมตตาต่อสัตว์และสิ่งมีชีวิตทุกชนิด มุ่งลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม และรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อคนรุ่นหลัง
.
2. #มิติของการดื่มด่ำ (Immersive Dimension)
2.1 การดื่มด่ำในการมีส่วนร่วมทางวัฒนธรรม (Cultural Engagement)
ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านกิจกรรมเชิงปฏิสัมพันธ์ เช่น การเรียนรู้ศิลปหัตถกรรมหรือการทำอาหารจากผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น ทัวร์ที่นำโดยไกด์ท้องถิ่นช่วยให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถานที่ต่าง ๆ
.
2.2 การดื่มด่ำทางด้านอนุรักษ์มรดก (Heritage Preservation)
เน้นการอนุรักษ์และส่งเสริมสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยให้การสนับสนุนด้านเงินทุนและโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้คนเข้าใจถึงคุณค่าของสถานที่เหล่านี้ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ช่วยปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมในระยะยาว
.
2.3 การดื่มด่ำกับการปฏิสัมพันธ์กับชุมชน (Community Interaction)
พัฒนากิจกรรมที่ส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนท้องถิ่น เช่น ทัวร์ชุมชนหรือการเข้าพักในโฮมสเตย์ ซึ่งช่วยให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์ชีวิตท้องถิ่นอย่างแท้จริง กิจกรรมเหล่านี้ยังช่วยสร้างรายได้และสนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
.
3. #มิติทางด้านดิจิทัล (Digital Dimension)
3.1 การผสานทางเทคโนโลยี (Technological Integration)
ใช้เทคโนโลยีล้ำสมัย เช่น AI และ VR เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทาง และนำเสนอแผนการเดินทางเฉพาะแบบส่วนตัว รวมถึงทัวร์เสมือนจริงก่อนการเยี่ยมชมด้วยเทคโนโลยี VR ที่จะช่วยยกระดับการเข้าถึงและคุณภาพของบริการเให้สอดคล้องกับความต้องของนักท่องเที่ยวยุคใหม่
.
3.2 การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Inclusivity)
มุ่งเน้นการออกแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นมิตรกับทุกคน รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย เช่น เว็บไซต์และแอปพลิเคชันที่เข้าถึงได้ง่าย
.
3.3 ประสิทธิภาพทางด้านดิจิทัล (Efficiency)
เทคโนโลยีช่วยลดขั้นตอนการเดินทาง เช่น เช็คอินผ่านมือถือและการใช้บัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลแบบเรียลไทม์เพื่อความสะดวกและความคล่องตัว
.
4. #มิติความเชื่อมั่น (Assured Dimension)
4.1 ความเชื่อมั่นการประกันคุณภาพ (Quality Assurance)
เน้นการรักษามาตรฐานสูงสุดในการให้บริการ ด้วยการฝึกอบรมพนักงานและรับฟังความคิดเห็นจากลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้บริการตรงตามความคาดหวังของนักท่องเที่ยวมุสลิม
.
4.2 ความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงและปลอดภัย (Safety and Security)
ใช้มาตรการความปลอดภัยอย่างเข้มงวดทั้งทางกายภาพและดิจิทัล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าข้อมูลและความปลอดภัยส่วนบุคคลจะได้รับการปกป้อง
.
4.3 ความเชื่อมั่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Compliance)
ส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรฐานและการรับรองที่สอดคล้องกับหลักฮาลาล เพื่อให้มั่นใจว่าบริการต่าง ๆ เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และกิจกรรมต่าง ๆ ตอบสนองต่อความต้องการของนักท่องเที่ยวมุสลิม
.
กรอบแนวคิด RIDA จึงเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยให้จุดหมายปลายทางและผู้ให้บริการเติบโตไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรม ควบคู่กับการเคารพในหลักการทางศาสนาและวัฒนธรรมของนักท่องเที่ยวมุสลิมอีกด้วย
…………………….
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ แปลและเรียบเรียง
……………………
บทความจาก
The Mastercard-Crescent Rating. 2024. Global Muslim Travel Index 2024. เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2567 จาก https://www.crescentrating.com/…/global-muslim-travel

การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce

? โอกาสขยายตลาดมาถึงแล้ว!!
ขายสินค้าฮาลาลออนไลน์สะดวก ง่าย และมั่นใจ

✅ ถ้าคุณคือผู้ประกอบการที่กำลังมองหาช่องทางการขาย สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทยส่งเสริมการเปิดตลาดฮาลาลสากล ผลักดันสินค้าไปสู่ตลาด e-Commerce ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ด้วยหลักสูตร : การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce

✅ ขอเชิญชวนผู้ประกอบการ SMEs OTOP วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการฮาลาลที่สนใจ เข้าร่วมโครงการฯ

? สิ่งที่จะได้รับจากโครงการฯ
1️⃣ ช่องทางการขายสู่ตลาด E-Commerce ในประเทศ
2️⃣ ช่องทางการขายสู่ตลาด E-Commerce ในต่างประเทศ
3️⃣ เครือข่ายผู้ประกอบการ E-Commerce ไทย
4️⃣ เรียนรู้เทคนิคการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์
5️⃣ โอกาสในการร่วมจับคู่ธุรกิจสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ

✅ เปิดรับสมัครแล้ว #ฟรี ตั้งแต่วันนี้ – 31 ตุลาคม 2563

✅ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม
สมัครเพื่อเข้าร่วมโครงการ คลิก https://forms.gle/fKTp3FxHkDCvoWJV8
สอบถามข้อมูลได้ทาง Facebook Fanpage : https://www.facebook.com/HSC.CU.Pattani

หรือ โทรสอบถามได้ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทั้ง 3 สำนักงาน
สำนักงานกรุงเทพฯ 02-214-4401
สำนักงานเชียงใหม่ 053-280-815-6
สำนักงานปัตตานี 073-333-604

โดยสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

DHE#DigitalHalalEconomyEcommerce

? การพัฒนาผู้ประกอบการ Smart SMEs / Halal Startup E-Commerce (เชิงลึก)✅ บ่มเพาะเชิงลึก 12 ชั่วโมง…

Posted by ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี) on Monday, 14 September 2020

Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล ชานมไข่มุกริมทาง รสชาตจัดจ้านกลมกล่อม หอมชาปักษ์ใต้แท้ ราคาเบา

#BIHAPSTORY 12

ผมเชื่อว่าการเรียนเราจะได้ “ความรู้” และการทำกิจกรรมจะทำให้เราได้ “ประสบการณ์”

ผมชื่อ อบูบักร อาแวนิ ปัจจุบันกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาอิสลามศึกษา หลักสูตรนานาชาติ ณ มหาวิทยาลัยฟาฏอนี นอกจากนั้นผมยังทำกิจกรรมเป็นนายกองค์การบริหารนักศึกษา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี ได้ร่วมกับเพื่อนร่วมชั้น นายไฟรุส เจ๊ะมะเจ ในการเริ่มธุรกิจชานมไข่มุก

ทำไมต้องรอให้เรียนจบ แล้วค่อยสร้างตัว สร้างฐานะ ผมเชื่อว่าธุรกิจเริ่มได้ตั้งแต่รั้วมหาลัย

ปีที่ 3 ของการเรียนในรั้วมหาลัยผมเลือกที่จะทำธุรกิจไปพร้อมๆกับการเรียนก็เพราะ อยากสร้างอาชีพให้ตัวเองสามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ สามารถหารายได้ได้ เผื่อสักวันนึงที่พ่อแม่เราจากไปก็สามารถเป็นเสาหลักให้แก่พี่ๆน้องๆในครอบครัวได้ และคิดว่านอกจากช่วยเหลือตัวเองได้แล้วก็อยากจะช่วยเหลือสังคม เพราะเป็นคนนึงที่คลุกคลีกับการทำกิจกรรมเพื่อสังคมเลยเห็นปัญหาของการทำงานคือไม่มีงบสนับสนุนในการทำกิจกรรมของเยาวชน และการได้เป็นแรงบันดาลใจแก่คนอื่นให้ลุกขึ้นสู้กับปัญหาในชีวิต และความใฝ่ฝันสูงสุดคืออยากจะเป็นนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ดั่งอับดุรเราะอฺมาน บิน เอาฟ์ (นักธุรกิจผู้ที่บริจาคมากกว่าครึ่งนึงของทรัพย์สินของเขา) เลยเลือกเริ่มตั้งแต่ยังเรียนอยู่เพื่อสร้างประสบการณ์ให้ตัวเอง

เริ่มจากสิ่งที่ชอบ ลงมือทำในสิ่งที่ใช่ ชานมไข่มุกในครั้งเยาว์วัย

ผมเชื่อว่าเราทุกคนมีความฝันที่ยิ่งใหญ่ ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะเป็นเรื่องเล็กในสายตาของผู้อื่นก็ตาม ในหลายๆความฝันผมก็มีความฝันหนึ่งนั้นก็คืออยากได้เปิดร้านชานมไข่มุก เนื่องในสมัยเด็กๆเป็นคนที่ชอบชานมไข่มุกมากๆ ทุกๆวัน ยอมที่จะเก็บเงินส่วนค่าขนม 5 บาท 10 บาท เพื่อรอคิวซื้อน้ำชาไข่มุก แต่คนเรามักมีความกลัวความกังวลไม่กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองหวังไว้ จนกระทั่งวันหนึ่งผมได้ติดตามเพจของพี่ชายคนหนึ่งกำลังเรียนอยู่เช่นกัน ซึ่งเขาเป็นเปิดธุรกิจชานมไข่มุกในมหาลัยที่มาเลเซีย และได้รับความนิยมอย่างมาก เขามักจะแบ่งปันไอเดียและแรงบันดาลในผ่านวีดีโอต่างๆของเพจเขา ซึ่งมีวีดีโอหนึ่งที่ผมประทับใจและทำให้ผมเริ่มที่จะทำธุรกิจนี้ขึ้นมาได้ นั้นก็คือบางส่วนของวีดีโอที่ว่า “ทำในสิ่งที่เรารัก เป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็น ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นอยากจะเห็น เพราะเรามีแค่ชีวิตเดียวเท่านั้น”

เชื่อในความดี เชื่อในอัลลอฮฺ ที่มาของ Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล

Bubble Street เป็นการรวมคำระหว่างคำว่า Bubble ที่หมายถึงฟอง เนื่องจากไข่มุก (boba) มีรูปร่างที่คล้ายๆกัน ส่วนคำว่า Street ที่หมายถึงถนน เหมือนกับอาหารขายริมทางที่เขาใช้คำว่า street food เราจึงเอามารวมกันไว้โดยให้ความหมายว่าชานมไข่มุกริมทาง ที่จะมอบความสะดวกสะบายในการจับจ่ายและรวดเร็วเหมาะสำหรับคนเดินทางที่ต้องการหยุดพัก นอกจากนี้เรายังต้องการยกระดับและพัฒนาอาหารประเภท Street Food ให้มีคุณภาพและยังคงไว้ซึ่งบรรยากาศของ Street Food ที่เป็นเอกลักษณ์และอยู่ร่วมกับการใช้ชีวิตของคนไทยเสมอมา

ส่วนจุดดำๆ 6 จุดที่มีอยู่ในโลโก้นั้นก็คือ เสาหลักความเชื่อของมุสลิมที่ไม่ควรละทิ้งไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไร เพราะการเชื่อในอัลลอฮฺ(พระเจ้า) บรรดามลาอีกะฮฺ(เทวทูต) บรรดารอซูล(ศาส ทูต) กีตาบต่างๆ(คัมภีร์จากฝากฟ้า) วันกิยามะฮฺ(วันสิ้นโลก) กอฏอ กอดัร(กำหนดสภาวะต่างๆ) จะทำให้เราทำสิ่งที่ดีที่สุด สุจริตที่สุด และไม่ลืมเป้าหมายของการทำธุรกิจคือการได้ช่วยเหลือ และมอบโอกาสให้แก่ผู้ที่ด้อยโอกาส ไม่ใช่การเข้ามาเพื่อกอบโกยผลประโยชน์เข้าหาตนเองและลืมผู้อื่นไว้

Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล คัดตั้งแต่วัตถุดิบ จึงทำให้เราแตกต่าง และโดนใจลูกค้า

เราคัดเลือกและคัดสรรค์วัตถุดิบที่เป็นชาไทย และในเมนูอื่นๆที่ดึงความเป็นสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่นเมนูอัญชัน กระบวนการทำไข่มุกที่มีความนุ่มและหอมหวาน นอกจากเรื่องวัตถุดิบที่เลือกใช้สิ่งที่ฮาลาลแล้วก็คือการบริการที่เป็นกันเองกับลูกค้า จึงทำให้เป็นที่ตอบรับและนิยมในหมู่นักศึกษาและวัยรุ่น และการมอบกำไรบางส่วนกลับคืนสู่ลูกค้าเช่นการสนับสนุนการจัดโครงการหรือกิจกรรมต่างๆชองนักศึกษา

เริ่มที่รั้วมหาลัย แต่ฝันไกลไปทั่วประเทศด้วยระบบแฟรนไชส์

ร้าน Bubble Street จะตั้งอยู่ตรงข้ามประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยฟาฏอนี ต.เขาตูม อ.ยะรัง จ.ปัตตานี และมีการออกบูธตามงานใหญ่ๆ เช่นงาน Halal Expo, world hapex, waqaf festival จะมีการขยายสาขาไปจังหวัดต่างๆ หลังจากได้เข้าร่วมโครงการ key success to the best halal franchise ได้มาอบรมในการจัดการทำเฟรนไชส์ที่มาตรฐานโดยวิทยากรจากสมาคมเฟรนไชส์และไลน์เซ็นต์ และถูกหลักฮาลาลโดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในอนาคต Bubble Street ชานมไข่มุกฮาลาล มีแผนที่นก็จะเป็นเป็นธุรกิจเฟรนไชส์ขายให้กับทางผู้ที่สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการขยายตลาดเฟรนไชส์ฮาลาลสู่ตลาดโลก

ติดตามได้ทางเพจ : Bubble Street ชานมไข่มุข
และ Instagram : bubblestreet2018

สุขจากการได้รับว่าสุขแล้ว แต่สุขจากการได้ให้นั้นสุขยิ่งกว่า

อยากให้เราทุกคนลงมือทำสิ่งที่เรารัก ก่อนที่จะสายเกินไป และเราจะไม่มานั่งเสียดายเมื่อวันหนึ่งที่เราแก่ตัวไป

ผมเชื่อว่าถ้าทุกคนทำด้วยความรัก ผลที่ออกมาจะสวยงามและพอใจ แม้ว่ามันจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ก็ตาม เราก็จะมีกำลังใจที่จะลุกขึ้นสู้แลเดินหน้าต่อไปสู่ผู้ที่เป็นผู้ให้แก่ผู้อื่นก่อนเสมอ นึกถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับสังคม แน่นอนสักวันความสำเร็จจะอยู่ใกล้แค่เอื้อม เพราะเราชื่อว่า การให้คือการได้รับ และแน่แล้วว่าการได้รับนั้นมีความสุข แต่การได้ให้นั้นสุขยิ่งกว่า

………………………………………………………………………………………………………………………
ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
300/80 ถนนหนองจิก ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี 94000
โทร 073-333-604 แฟกซ์ 073-333-602
Facebook : ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (สำนักงานปัตตานี)
#HALALSCIENCE2020
#HSCPN
#HALALPATTANI
#HALALCHULA

Kami Cocoa & Milo Lava จากรสชาติความชื่นชอบในวัยเด็กสู่ธุรกิจที่สร้างรายได้สู่ครอบครัว

#BIHAPSSTORYEP11

ความประทับใจในวัยเด็กหลายครั้งที่สามารถกลายมาเป็นอาชีพได้อย่างคาดไม่ถึง  แต่นอกเหนือไปจากความประทับใจนั้น ส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้ความประทับใจสามารถต่อยอดออกมาสู่อาชีพจริงได้ สิ่งนั้นก็คือไอเดีย  ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เฉกเช่นธุรกิจหนึ่งที่สานต่อความประทับใจในวัยเด็ก ผสมผสานไอเดียการต่อยอดจนกลายมาเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้เลี้ยงชีพได้จริง ๆ ธุรกิจนั้นจะเป็นอะไร เราจะมาดูไปพร้อม ๆ กันครับ

จากความชอบในเครื่องดื่มสุดโปรดสานต่อเป็นธุรกิจของครอบครัว

คุณอิบรอเฮ็ม อารง ปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจ Kami Cocoa & Milo Lava จุดเริ่มต้นของธุรกิจนี้มาจากความชื่นชอบรสชาติของเครื่องดื่ม “ไมโล” มาตั้งแต่เมื่อครั้งคุณอิบรอเฮ็มยังเด็ก โดยในตอนนั้นคุณอิบรอเฮ็มมักจะมีไอเดียในการดื่มเครื่องดื่มแสนอร่อยนี้ในหลากหลายรูปแบบ  ไม่ว่าจะเป็นการดื่มในแบบปกติที่ชงกับน้ำร้อน ดื่มในรูปแบบสำเร็จรูปบรรจุกล่อง แม้กระทั้งนำผงไมโลมารับประทานเปล่า ๆ และเริ่มสนุกกับการดัดแปลงโดยนำเอาไมโลซองผงไปรีดด้วยเตารีด  แล้วนำไปแช่แข็งก่อนจะนำไปรับประทาน และเมื่อโตขึ้นก็นำผงไมโลมาทำการเคี่ยวจนเหนียวกลายเป็นซอสไมโล  ราดบนน้ำแข็งไส และหาเครื่องเคียงรสสัมผัสกรอบ ๆ มาโรยเป็นท็อปปิ้งอีกที โดยเมนูนี้เป็นเมนูขึ้นหิ้งที่ไม่ว่าใครก็ตามที่แวะเวียนไปมาหาสู่เยี่ยมเยือนที่บ้าน ก็จะทำเมนูนี้นำมาเสิร์ฟรับแขกอยู่เสมอ จนผู้มาเยือนทุกคนเอ่ยปากชมถึงความอร่อย กระทั่งจุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นเมื่อทางครอบครัวได้ลองชักชวนให้นำเมนูประจำบ้านเมนูนี้มาทดลองทำเป็นธุรกิจดู  เนื่องจากที่ผ่านมาทางครอบครัวของคุณอิบรอเฮ็มมีธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางด้านอาหารอยู่แล้ว และอยากลองหันมาทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอาหารบ้างจึงเป็นที่มาของธุรกิจ Kami Cocoa & Milo Lava ในที่สุด  

ชื่อแบรนด์ภาษาถิ่นกับความหมายดี ๆที่สื่อถึงการเป็นเพื่อนพวกพ้อง

คำว่า Kami”  เป็นภาษามลายูอันเป็นภาษาหลักของสามจังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของแบรนด์นี้ โดยมีความหมายว่า “พวกเรา” หรือ “We” ในภาษาอังกฤษ โดยเป็นร้านที่เน้นการขายตามถนนคนเดินหรือ Walking Street และปัจจุบันมีสาขาครอบคลุมอยู่ในจังหวัดนราธิวาส

จุดเด่นของแบรนด์คือรสชาติความอร่อยที่ทุกคนคุ้นเคย

จากจุดเริ่มต้นที่ชื่นชอบเครื่องดื่มสุดคลาสสิคนี้  จึงเลือกการทำไมโลลาวาออกมาขาย  โดยจุดเด่นของสินค้านี้คือ “ไมโลลาวา” ที่ผ่านการเคี่ยวจนเหนียว ราดลงบนน้ำแข็งบดแล้วตามด้วยการโรยท็อปปิ้งกว่า 20 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นโอริโอ โอโจ ช็อกชิพ คอนเฟล็ก เป็นต้น ซึ่งจะทำให้ทุกคนได้เพลิดเพลินไปกับรสชาติที่คุ้นเคยที่ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องเคยได้ลิ้มรสความอร่อยของเครื่องดื่ม ไมโล มาแล้วทั้งสิ้น แต่ถูกนำเสนอใหม่ในรูปแบบที่ผสานไปด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทำให้รสชาติที่คุ้นเคยถูกยกระดับความอร่อยไปอีกขั้นในราคาเพียง 25 บาททุกแก้ว และด้วยความคิดที่อยากกระจายความอร่อยออกไปโดยเริ่มขายตามตลาดนัด ถนนคนเดินและตามงานอีเว้นท์ จากการทดลองสูตรโกโก้ผสมรสชาติผลไม้ต่าง ๆจึงได้ออกมาเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติเข้มข้นและกลมกล่อมภายใต้แนวคิดว่า “ของดีไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป” โดยมีเมนูให้เลือกกว่า 10 เมนู   เพื่อตอบสนองคนรักเครื่องดื่มเสมือนเป็นคนในครอบครัวสมดั่งชื่อแบรนด์ KAMI

คุณค่าที่ส่งต่อคือรสชาติที่ไม่รู้ลืม

แม้จะเป็นเครื่องดื่มที่นำมาดัดแปลงจากผลิตภัณฑ์เดิมที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้วในท้องตลาด แต่กระนั้นด้วยไอเดียที่แปลกและแหวกแนวจึงทำให้เกิดเป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติแปลกใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมเพื่อส่งต่อรสชาติสุดพิเศษให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบในเครื่องดื่มไมโลและอยากได้รับประสบการณ์ในการดื่มเครื่องดื่มแก้วโปรดนี้ในอีกรูปแบบหนึ่ง รวมไปถึงผู้ที่อาจจะไม่ได้ชื่นชอบเครื่องดื่มไมโลมากนักแต่อยากจะลิ้มลองรสชาติใหม่ เพราะ Kami Cocoa & Milo Lava เป็นเครื่องดื่มที่เหมาะกับคนทุกเพศทุกวัยนั่นเอง

แผนการในอนาคตคือการส่งต่อความอร่อยให้เป็นที่รู้จัก

          ในขณะนี้แบรนด์ Kami Cocoa & Milo Lava อาจจะยังเป็นที่รู้จักแต่เฉพาะในเขตจังหวัดนราธิวาสเท่านั้น แต่จากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาของ คุณอิบรอเฮ็ม อารง ที่ต้องการผลักดันแบรนด์นี้ให้เป็นที่รู้จักในอนาคต ซึ่งก็น่าจะทำให้ทางแบรนด์ขยายตัวและเป็นที่รู้จักในวงกว้างต่อไป

แรงบันดาลใจส่งต่อสู่ธุรกิจอื่น ๆ

การทำงานให้ประสบความสำเร็จมีปัจจัยสำคัญไม่กี่ข้อ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือความตั้งใจและเจตนาอันบริสุทธิ์ที่จะทำงานนั้นออกมาให้ดี ภายใต้ความคิดที่จะส่งต่อสิ่งดี ๆให้แก่ผู้อื่น และที่สำคัญคือการหมั่นเรียนรู้ พัฒนาและทดลองสิ่งใหม่ ๆตลอดเวลา เพราะแม้ผลิตภัณฑ์เดิมจะเป็นที่รู้จักอยู่แล้วในท้องตลาด แต่หากนำผลิตภัณฑ์ที่ว่านั้นมาเป็นไอเดียต่อยอดจนกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สิ่งนี้แหละที่สามารถเพิ่มราคา เพิ่มมูลค่าจนกลายมาเป็นอาชีพที่หาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ เพราะความสำเร็จมักจะเคียงคู่มากับผู้ที่กล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ ๆอยู่เสมอ

ช่องทางการติดต่อ

         – ปัจจุบัน Kami cocoa & milo lava มีร้านสาขาแรกในอำเภอเมืองนราธิวาสบริเวณข้างโรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามมียะห์
– เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ 093-732-6386
– Facebook: Kami cocoa & milo lava