การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอุตสาหกรรมฮาลาล

อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าตลาดโลกคาดว่าจะสูงถึง 3.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 [1] ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารฮาลาลมีมูลค่าประมาณ 6,114 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียน ร้อยละ 62 รองลงมา ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ แอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา และเอเชียใต้ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีผู้ผลิตอาหารฮาลาลกว่า 15,000 บริษัท มีผลิตภัณฑ์และร้านอาหารที่ได้รับตราฮาลาลกว่า 166,000 ผลิตภัณฑ์ โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอาหารฮาลาลอันดับที่ 11 ของโลก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.7 [2]

อุตสาหกรรม 4.0 คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ และโดดเด่นด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีดิจิทัลและระบบอัตโนมัติขั้นสูงเพื่อสร้างโรงงานผลิตที่ชาญฉลาดและเชื่อมต่อกัน การบูรณาการนี้ช่วยให้สามารถสื่อสารแบบเรียลไทม์ การตรวจสอบระยะไกล และการรวบรวมข้อมูล ทำให้ผู้ผลิตได้รับความก้าวหน้าในด้านคุณภาพ ความน่าเชื่อถือ และความคล่องตัวอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยการปฏิวัติครั้งนี้โดดเด่นด้วยการบูรณาการเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things) และหุ่นยนต์เข้าสู่กระบวนการทางอุตสาหกรรม อุตสาหกรรม 4.0 สร้าง “โรงงานอัจฉริยะ” ที่เป็นอัตโนมัติขั้นสูง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเชื่อมต่อกับห่วงโซ่อุปทานอย่างสมบูรณ์ การปฏิวัติครั้งนี้ได้เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานด้านการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างมาก [3]

#การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอุตสาหกรรม4.0ในอุตสาหกรรมฮาลาล

1. การใช้งาน Internet of Things (IoT) เป็นหัวใจหลักของอุตสาหกรรม 4.0 ที่ช่วยให้สามารถติดตามและควบคุมกระบวนการผลิตได้แบบเรียลไทม์ ในอุตสาหกรรมฮาลาล IoT สามารถช่วยติดตามตั้งแต่การเลี้ยงสัตว์จนถึงการผลิตและจัดส่ง ช่วยให้ทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลาม

2. การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (Machine Learning) AI สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ความต้องการของตลาดเพื่อปรับแต่งผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ AI ยังสามารถช่วยในการทำนายแนวโน้มตลาดและการจัดการสต็อกสินค้า

3. การใช้งาน Big Data และ Data Analytics การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าใจแนวโน้มตลาด พฤติกรรมการบริโภค และการตอบสนองต่อแคมเปญต่างๆ ได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ช่วยให้สามารถทำการตลาดและกำหนดกลยุทธ์ที่ตรงจุดมากขึ้น

4. การใช้งานเทคโนโลยี Blockchain โดยเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาใช้ในการรับรองความโปร่งใสของห่วงโซ่อุปทาน ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาและการจัดการผลิตภัณฑ์ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ส่งเสริมความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้บริโภค

5. การปรับปรุงความปลอดภัยและการตรวจสอบคุณภาพ นอกจากอุตสาหกรรม 4.0 ในภาคฮาลาลไม่เพียงแต่เป็นการเพิ่มมูลค่าเชิงเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างความไว้วางใจและความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมุสลิมทั่วโลก โดยเทคโนโลยีอย่าง AI และ IoT ไม่เพียงแต่เพิ่มความสามารถในการตรวจสอบกระบวนการผลิตในแบบเรียลไทม์เท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ ด้วยการนำระบบการตรวจจับและการเฝ้าระวังที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AI มาใช้ ผู้ผลิตสามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติและป้องกันการปนเปื้อนของผลิตภัณฑ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ในทันที การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ยังช่วยให้แน่ใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นผ่านกระบวนการที่เข้มงวดและเป็นไปตามมาตรฐานฮาลาล

6. การเพิ่มความโปร่งใสและตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในการเพิ่มความโปร่งใสในอุตสาหกรรมฮาลาล ด้วยการใช้เทคโนโลยี Blockchain กับข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับแต่ละขั้นตอนของการผลิต สามารถถูกบันทึกและตรวจสอบย้อนกลับได้โดยสาธารณะ ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบที่มาและกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ฮาลาลที่พวกเขาบริโภคได้อย่างง่ายดาย ซึ่งเพิ่มความไว้วางใจและความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคฮาลาลอีกด้วย

7. การเพิ่มประสิทธิภาพและการทำงานอัตโนมัติ โดยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ช่วยให้บริษัทสามารถผลิตสินค้าโดยอัตโนมัติได้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการลดต้นทุนและเวลาในการผลิต และยังช่วยเพิ่มความสามารถในการผลิตและความแม่นยำในการผลิตสินค้าฮาลาลที่มีคุณภาพสูงด้วย การใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติสำหรับงานที่ซ้ำซากจำเจในโรงงานช่วยให้สามารถจัดสรรทรัพยากรมนุษย์ไปทำงานที่ต้องการทักษะและการตัดสินใจที่สูงกว่า [4-8]

การบูรณาการของเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในอุตสาหกรรมฮาลาล สร้างโอกาสในการพัฒนาที่ไม่สิ้นสุด ไม่เพียงแต่เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดฮาลาลที่กำลังเติบโตเท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้างมาตรฐานและความน่าเชื่อถือในระดับโลกอีกด้วย ทั้งหมดนี้ช่วยให้อุตสาหกรรมฮาลาลไม่เพียงแต่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล แต่ยังสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย คุณภาพสูง และผลิตอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย
…………
พิทักษ์ อาดมะเร๊ะ

Ref.
[1] ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานเชียงใหม่, “อุตสาหกรรมฮาลาลโอกาสทางธุรกิจที่ไม่ควรพลาด”. [online]. Available: https://www.facebook.com/photo/?fbid=408018651559106&set=a.232939859066987. [Accessed: 17-April-2024]
[2] รัฐบาลไทย, “รองรัดเกล้าฯ เผย ครม. รับทราบแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมฮาลาล ดันไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมฮาลาลในภูมิภาค ร่างแผนปฏิบัติการฯ 5 ปี และตั้งคณะกรรมการอุตสาหกรรมฮาลาล”. [online]. Available: https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/79504. [Accessed: 17-April-2024]
[3] Smart Factory, “How Industry 4.0 is Revolutionizing Manufacturing Operations?”. [online]. Available: https://www.smartfactorymom.com/…/how-industry-4-0-is…/. [Accessed: 17-April-2024]
[4] Zaidi, Mohamad Faizal Ahmad. “Propositions on the relationships between technology complexity, industry 4.0, and halal sustainability.” Journal of Engineering and Science Research 4.1 (2020): 52-58.
[5] Kurniawati, Dwi Agustina, et al. “Toward halal supply chain 4.0: MILP model for halal food distribution.” Procedia Computer Science 232 (2024): 1446-1458.
[6] bin Illyas Tan, Mohd Iskandar. “Halal Industry and the Fourth Industrial Revolution (4IR).” Technologies and Trends in the Halal Industry. Routledge 23-38.
[7] Nurshafaaida, Mohamad Rani, et al. “Industrial Revolution 4.0 Halal Supply Chain Management: A Theoretical Framework.” International Journal of Arts Humanities and Social Sciences Studies 5 (2020): 31-36.
[8] Ahyani, Hisam, et al. “THE POTENTIAL OF HALAL FOOD ON THE ECONOMY OF THE COMMUNITY IN THE ERA OF INDUSTRIAL REVOLUTION 4.0.”

“คำว่า E- Number บนผลิตภัณฑ์อาหารคืออะไร?”

:: คำถาม ::
อัสสลามมุอะลัยกุม ส่วนผสมของอาหารบางรายการที่มีการแสดงด้วยตัวอักษร “E” และตามด้วยชุดตัวเลข เราได้รับการบอกเล่าว่า นี่แสดงถึงรายการที่ผลิตจากไขมันหมู หรือกระดูก และไขกระดูกหมู หากเป็นเรื่องจริงแล้ว ในทางชารีอะฮฺมีข้อวินิจฉัยในประเด็นอาหารดังกล่าวนี้ไว้ว่าอย่างไร ?

:: คำตอบ ::
“รายการสินค้าที่มีอักษร ‘E’ และตามด้วยชุดตัวเลขคือสารเติมแต่ง สารเติมแต่งเหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 350 ชนิด ซึ่งอาจจะเป็นสารป้องกันการเน่าเสีย สารแต่งสี สารแต่งกลิ่น สารให้ความหวาน เป็นต้น สารเหล่านี้ถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่มตามแหล่งที่มาของมัน

กลุ่มแรก – สารประกอบที่มาจากการสังเคราะห์ทางเคมี
กลุ่มที่สอง – สารประกอบที่ได้จากพืช
กลุ่มที่สาม – สารประกอบที่ได้จากสัตว์
กลุ่มที่สี่ – สารประกอบที่เจือจางในแอลกอฮอล์

ข้อวินิจฉัยในประเด็นของสารเหล่านี้ก็คือ พวกมันไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของอาหารเหล่านี้ มันจึงเป็นที่อนุมัติเนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ กลุ่มที่หนึ่งและสองเป็นที่อนุมัติ เพราะสารเหล่านี้มาจากต้นกำเนิดที่ได้รับอนุญาตและไม่มีอันตรายใด ๆ จากการบริโภคสิ่งเหล่านี้

กลุ่มที่สามก็เป็นที่อนุมัติเช่นกัน เพราะสารที่ได้มาจากสัตว์ ไม่ได้คงสภาพเดิมในระหว่างขั้นตอนของกระบวนการผลิต มันได้เปลี่ยนรูปอย่างสิ้นเชิงจากรูปแบบดั้งเดิมเป็นรูปแบบใหม่ที่สะอาดและบริสุทธิ์ผ่านกระบวนการที่เรียกว่า การเปลี่ยนสภาพทางเคมี การเปลี่ยนสภาพนี้มีผลต่อการวินิจฉัยตามหลักการเกี่ยวกับส่วนผสมดังกล่าว

ดังนั้น หากรูปแบบดั้งเดิมไม่สะอาดหรือหะรอม การเปลี่ยนสภาพทางเคมีได้เปลี่ยนมันไปเป็นสารอีกตัวหนึ่งที่ต้องมีการวินิจฉัยใหม่ ตัวอย่างเช่น หากแอลกอฮอล์มีการเปลี่ยนสภาพเป็นน้ำส้มสายชูแล้ว มันจึงไม่ได้อยู่ในสภาพหะรอม แต่การวินิจฉัยใหม่นี้ต้องเป็นไปตามธรรมชาติของผลิตภัณฑ์ใหม่ ซึ่งในกรณีนี้เป็นที่อนุมัติ

สำหรับกลุ่มที่สี่ สารประกอบเหล่านี้มักจะแต่งสีและตามปกติมีการใช้ในปริมาณที่น้อยมากโดยใช้เจือจางในรูปแบบของผลิตภัณฑ์สุดท้าย ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ผ่อนผัน ดังนั้นอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมใด ๆ ของสารเหล่านี้ยังคงสภาพหะลาลและเป็นที่อนุญาตสำหรับมุสลิมในการบริโภค

เราต้องตระหนักว่าศาสนาของเราเป็นศาสนาแห่งความสะดวกง่ายดายและเราได้รับการห้ามในการทำเรื่องให้ลำบากและยุ่งยาก นอกจากนี้การค้นหาและตรวจสอบในเรื่องดังกล่าวไม่ใช่สิ่งที่อัลลอฮฺหรือศาสนทูตของพระองค์ (ขอความสันติและความจำเริญจงมีแด่ท่าน) สั่งใช้ให้เราทำ

ฝ่ายบริการวิชาการ ศวฮ. สำนักงานปัตตานี
แหล่งที่มา
http://www.islamonline.net/servlet/Satellite?pagename=IslamOnline-English-Ask_Scholar%2FFatwaE%2FFatwaE&cid=1119503546698

“10 สารเคมีอาหารในรูป E-number และ INS ที่ผู้บริโภคฮาลาลควรรู้จัก”

E-number และ INS (International Numbering System) เป็นระบบที่ใช้กำหนดรหัสของวัตถุเจือปนอาหารเพื่อให้อาหารมีความปลอดภัย เก็บรักษาไว้ได้นาน ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย เชื้อรา และชะลอการเน่าเสียของอาหาร วัตถุเจือปนอาหารเหล่านี้ยังถูกเติมเข้าไปเพื่อช่วยในกระบวนผลิต ทำหน้าที่เป็น อีมัลซิไฟเออร์ สารช่วยเพิ่มปริมาตรให้ผลิตภัณฑ์ เป็นสารกันบูด และปรับปรุงคุณภาพอาหารในแง่ของสี รสชาติ เนื้อสัมผัส และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารอีกด้วย

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 84 (พ.ศ. 2527) และประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับที่ 119 (พ.ศ. 2532) ให้นิยามวัตถุเจือปนอาหารไว้ว่า “วัตถุที่ตามปกติมิได้ใช้เป็นอาหารหรือเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของอาหาร ไม่ว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าทางอาหารหรือไม่ก็ตามแต่ใช้เจือปนในอาหารเพื่อ ประโยชน์ในทางเทคโนโลยีในการผลิต การบรรจุ การเก็บรักษา หรือการขนส่งซึ่งมีผลต่อคุณภาพหรือมาตรฐานหรือลักษณะของอาหาร และให้หมายความรวมถึงวัตถุเจือปนอาหาร แต่ใช้รวมอยู่กับอาหารเพื่อประโยชน์ดังกล่าวข้างต้นด้วย”

ผู้บริโภคมุสลิมควรรู้จักบรรดา E-number ที่มีแหล่งที่มาจากสัตว์ E-number หรือ INS ที่มีตัวเลขดังต่อไปนี้หากพบเห็นบนฉลากอาหาร ควรหลีกเลี่ยงหรือหาสารทดแทนหรือหาชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยดังตัวอย่างต่อไปนี้

E120 – สีแดงจากแมลงโคชิเนียล นิยมใช้สร้างสีแดงในอาหารหลายชนิด สกัดมาจากแมลงโคชิเนียลได้จากประเทศแถบอเมริกาใต้ สีประเภทนี้องค์กรศาสนาอิสลามบางประเทศเช่น อินโดนีเซีย ให้การรับรองฮาลาล บางประเทศไม่ให้การรับรอง เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาลจะปลอดภัยกว่า

E153 – สีดำจากคาร์บอนหรือ Carbon black ส่วนใหญ่ทำจากกระดูกสัตว์ อาจพบได้กรณีที่มาจากถ่านไม้ซึ่งจะแจ้งไว้ ควรระวังกันหน่อย มีบางชนิดได้รับการรับรองฮาลาล

E422 – กลีเซอรอล ได้มาจากน้ำมันพืชหรือน้ำมันสัตว์ คอยดูแลกันไว้บ้าง หากมาจากไขมันสัตว์อาจมาจากไขมันวัวที่อาจไม่เชือดตามหลักการอิสลามหรืออาจมาจากไขมันหมู ดูชนิดที่มีการรับรองฮาลาล

E441 – เจลาติน ส่วนใหญ่ได้จากสัตว์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังหมู บางชนิดได้มาจากกระดูกวัว หรือจากหนังปลา ปัจจุบันเริ่มมีเจลาตินฮาลาลเข้ามาทดแทนมากขึ้น เลือกชนิดที่มีการรับรองฮาลาล อาจใช้ E407 หรือคาราจีแนนจากสาหร่ายทดแทน หากเห็น E407 แสดงว่ามีการใช้แทน E441

E470a, E470b – เกลือที่ใช้เป็นสารป้องกันการรวมตัวเป็นก้อน anti caking agent มักได้มาจากไขมันสัตว์ แต่อาจมาจากไขมันพืชก็ได้เช่นกัน ตรวจดูที่การรับรองฮาลาล

E471 – โมโนหรือไดกลีเซอไรด์ เตรียมมาจากไขมันซึ่งอาจเป็นไขมันสัตว์ เช่น วัว หมู คอยตรวจสอบด้วย พักหลังมีการใช้ไขมันพืชประเภทปาล์มมากขึ้น

E472a-f – เกลือที่ได้มาจาก E471 อาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืชก็ได้ ควรตรวจสอบจากการรับรองฮาลาล

E473-E479 – เกลือเตรียมได้จากกรดไขมันซึ่งอาจมาจากไขมันสัตว์หรือพืช ควรตรวจสอบการรับรองฮาลาล

E542 – เกลือฟอสเฟต มักได้จากกระดูกสัตว์

E635 – ไดโซเดียม 5 ไรโบนิวคลิโอไทด์ สารเพิ่มรสชาติมักผลิตจากสัตว์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดทำ H numbers เพื่อทดแทน E numbers อยากรู้ว่าสารตัวไหนใช้ได้หรือไม่ได้ให้ดูจาก แอปพลิเคชัน H numbers หรือเว็ปไซต์ https://h4e.halalthai.com/
……………..
ฝ่ายบริการวิชาการ ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานปัตตานี

ที่มา :
https://www.facebook.com/…/a.14832560653…/1690781201229850/…
https://www.facebook.com/…/a.20208291647…/1019523968067614/…
http://www.halalinfo.ifrpd.ku.ac.th/…/144-halal-news-intere…

เจลาติน (ตอนที่ 1)

เจลาติน1

เจลาติน คืออะไร?

หลายคนคงเคยได้ยินสารตัวหนึ่งที่ชื่อว่า เจลาติน เจ้าสารตัวนี้จะเกี่ยวพันกับอาหารและสินค้าต่างๆจำนวนมาก ทั้งที่ฮาลาลและไม่ฮาลาล แล้วสารตัวนี้คืออะไร ฮาลาลหรือไม่ เรามาทำความรู้จักกับสารที่ชื่อว่า “เจลาติน”

อ่านเพิ่มเติม “เจลาติน (ตอนที่ 1)”